26/07/2024

‘รมว.ดีอี’ มอบรางวัล ‘Hackulture 2023 Illuminate Thai’ นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล สร้าง ‘Soft Power’ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

‘รมว.ดีอี’ มอบรางวัล ‘Hackulture 2023 Illuminate Thai’ นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล สร้าง ‘Soft Power’ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 25 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานมอบรางวัลกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ ‘Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล’ ชิงถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรม Graph Hotel รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า มรดกทางวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของชาติไทย กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจ กิจกรรมนี้มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาแฟชั่นไทยให้มีความร่วมสมัยและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรม สำหรับนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นในด้านแฟชั่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยทั้งสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ อัญมณี หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้น การถ่ายทอดแฟชั่นไทยสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านเทคโนโลยี หรือมิติด้านสื่อมัลติมีเดีย จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนไทยมองเห็นถึงคุณค่าและเกิดความหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content เตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ
.
นายภุชพงค์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อดำเนินการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และ 2.การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนบุคคลที่มีความสนใจ ร่วมสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Soft Power ของประเทศ
.
นายภุชง กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยสู่คนรุ่นใหม่ โดยได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านการนำเสนอด้วยการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินในรอบแรก จำนวน 40 ทีม ได้เข้าร่วมค่ายฝึกอบรม Boot camp เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงานและการถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งทั้ง 40 ทีม ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงาน (Pitching) เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 โดยมีเพียง 12 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย (Grand Pitching) โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยี จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม และสาขาสื่อมัลติมีเดีย จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม
.
สำหรับผลการแข่งขัน ทีมผู้ชนะการแข่งขันที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีม Fash.Design สาขาเทคโนโลยี : ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา ประกอบด้วย
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4DEV
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม The Board ThaiGuideGame
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Metampta
.
ประเภทประชาชนทั่วไป
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Fash.Design
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Fashion Verse
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม DM-TRU Warrior
.
สาขาสื่อมัลติมีเดีย : ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Y2Thai
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Thai Style
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Cocoon
.
ประเภทประชาชนทั่วไป
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrowdMart Thailand
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม FA DPU
– รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Moody (มูดี้)

/////////////

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป