27/07/2024

กาฬสินธุ์ พบโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดกว่า 2 พันไร่

เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังในจังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ไร่มันสำปะหลังขาดแคลนน้ำ ทยอยแห้งตาย และเกิดโรคใบด่างระบาด ซึ่งกำลังขยายวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับผลผลิต ขณะที่เกษตรจังหวัดระบุ สาเหตุจากแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ สำรวจเบื้องต้นพื้นที่ระบาด 2 พันไร่ แนะหากพบให้เร่งทำลายต้นเป็นโรค และแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทันที

วันที่ 23 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพในฤดูแล้ง ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในกลุ่มปลูกมันสำปะหลัง พบว่ากำลังประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด ผืนดินแห้ง ต้นมันสำปะหลังทั้งที่กำลังเจริญเติบโต และกำลังสะสมอาหารสร้างหัวมันใกล้เก็บผลผลิต เริ่มแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันยังพบว่าเกิดการระบาดของโรคใบด่าง ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ


นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าปัญหาที่ส่งผลกระทบไร่มันสำปะหลังทั้ง 2 สาเหตุดังกล่าวนั้น สำหรับหรับความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วง คาดว่าคงจะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก และไม่มีรายงานเข้ามา เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง และไม่ต้องการน้ำมาก ที่น่าเป็นห่วงก็คือการระบาดของโรคใบด่าง เพราะหากเกิดขึ้นแล้วควบคุมและแก้ไขยาก จากข้อมูลการระบาดในช่วงนี้พบพื้นที่ระบาดประมาณ 2 พันไร่ มากสุดในเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์ 920 ไร่ อ.ห้วยเม็ก 642 ไร่ และ อ.ยางตลาด 217 ไร่ อ.ดอนจาน 105 ไร่ ตามลำดับ ซึ่งในภาพรวมพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างลดลงจากปีที่ผ่านมา


นายสันติภาพกล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ จากข้อมูลพบครั้งแรกในเดือน ส.ค.2561 เริ่มระบาดเข้าไทยจากชายแดนเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และระบาดไปทั่วประเทศแล้ว หากเกษตรกรพบต้นมันสำปะหลังมีอาการของโรคใบด่าง ให้เร่งทำลายต้นเป็นโรคก่อนที่แมลงหวี่ขาว จะนำไปแพร่ยังต้นอื่นๆ โดยการบดสับต้นเป็นโรคใส่ถุงดำมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที


นายสันติภาพกล่าวอีกว่าโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นโรคเข้าทำลายได้ทุกระยะการเติบโต และส่งผลกระทบทำให้ผลผลผลิตลดลง 20-80 เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่พบมีอยู่ 2 สาเหตุ คือ 1.มาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรสั่งซื้อจากเอกชน และซื้อทางออนไลน์ ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ และเป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรคใบด่าง และ 2. อีกสาเหตุคือแปลงมันสำปะหลังในพื้นที่เกิดการระบาดของโรคอยู่แล้ว และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะโรคจากแปลงที่ระบาด และกระจายไปยังแปลงมันสำปะหลังข้างเคียง จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง หากพบการบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้แจ้งที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่โดยด่วน เพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางป้องกันและกำจัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป


สำหรับราคาซื้อขายหัวมันสดปัจจุบันอยู่ที่ ก.ก.ละ 4 บาท ตามคุณภาพแป้ง ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรลงทะเบียนปลูกมันสำปะหลังล่าสุด (ข้อมูล 22 ม.ค.67) พื้นที่ทั้งหมด 306,598 ไร่ เกษตรกร 38,813 ราย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรทั้ง 18 อำเภอ เร่งลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการระบาดที่ชัดเจน ส่วนแนวทางการป้องกันเบื้องต้น ได้สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรทุกรูปแบบ ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ จัดการอบรม ประชุมงานรณรงค์ วิทยุ หอกระจายข่าวหมู่บ้าน รวมทั้งให้นักวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบแต่ละตำบล ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป