08/09/2024

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงาน’วันทะเลโลก ปี 2566’ที่ จ.ระยอง ภายใต้แนวคิด’เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม’มุ่งกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาสนใจและรักษ์ทะเล

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงาน’วันทะเลโลก ปี 2566’ที่ จ.ระยอง ภายใต้แนวคิด’เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม’มุ่งกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาสนใจและรักษ์ทะเล

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 มิ.ย.ที่ลานหินขาว ชายหาดแม่รำพึง ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานวันทะเลโลก ประจำปี 2566 ‘เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม’ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้แทนสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมงานจำนวนมาก ภายในงานมีการมอบป้ายสนับสนุนการจัดงาน และอุปกรณ์การแพทย์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลหายากและพันธุ์สัตว์ทะเลหายาก นิทรรศการของภาครัฐ และเอกชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล การปล่อยเต่าทะล ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำปล่อยตัวนักดำน้ำโดยอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในกิจกรรมเก็บขยะในทะเล รวมทั้งกิจกรรมเก็บขยะชายหาดด้วย

นายวราวุธ กล่าวว่า วันทะเลโลกในปีนี้ทั่วโลกได้ร่วมจัดกิจกรรมในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างพร้อมเพรียง เพื่อกระตุ้นเตือนและตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเลและมหาสมุทรของโลก และคำนึงถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร กระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาสนใจและรักษ์ทะเลกันมากขึ้น แม้โลกจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล และรองรับจำนวนประชากรของมนุษย์และสัตว์นานาชนิดนับล้านล้านตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 ใน 4 ของโลกเป็นพื้นที่มหาสมุทร ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีพอยู่ได้บนโลกใบนี้ มหาสมุทรเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอน มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 230,000 สปีซีส์ ออกซิเจนในอากาศมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มาจากสาหร่ายเซลล์เดียวหรือแพลงก์ตอนที่ลอยอยู่ในทะเล มหาสมุทรยังเป็นแหล่งกำเนิดเกลือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย มหาสมุทรจึงสำคัญมากกว่าที่เราคิด

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลภารกิจด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน อย่างใกล้ชิด ผลักดันมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมถึงปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยยึดหลักการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชน และฝากถึงนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทุกคนได้ช่วยกันดูแลทรัพย์สมบัติเหล่านี้ที่มีที่จะต้องอยู่ให้ถึงลูกหลานได้เห็นความสวยงาม และได้ใช้ประโยชน์จากท้องทะเลเหมือนอยู่กับทุกๆ คนที่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ส่วนกรณีที่ประเทศไทยถูกเลื่อนลำดับจากการทิ้งขยะลงทะเลที่ 6 ของโลกเป็นลำดับ 10 ซึ่งดีขึ้นนั้น ซึ่งตนไม่อยากให้มองว่าประสบความสำเร็จ แต่อยากให้มองว่าเป็นความก้าวหน้าในการทำงาน เพราะว่าถ้าสำเร็จประเทศไทยต้องไม่มีขยะในทะเล ซึ่งถูกเลื่อนลำดับดีขึ้นดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลงาน ความคืบหน้าในการทำงานร่วมกันของทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชนในการที่จะลดขยะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่นี้เป็นเพียง 1 ในหลายๆ สาเหตุของมลพิษในท้องทะเลไทย ยังไม่รวมถึงน้ำเสีย และกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลที่ทำให้เกิดความเสียหายในท้องทะเล ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป