27/07/2024

ลำพูน – 4 เสือเอกชน ลงนามไม่เห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ!!

ลำพูน – 4 เสือเอกชน ลงนามไม่เห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ!!

 

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมโชควัฒนา สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ลำพูน ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดลำพูน, สภาอุต สาหกรรมจังหวัดลำพูน, ชมรมธนาคารจังหวัดลำพูน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน โดยได้มีการแถลงข่าวและลงนามร่วมกันในประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กกร.จังหวัดลำพูน ในนามตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน มีความเห็นร่วมกันว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 400 บาท ทั่วประเทศที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ การปรับค่าแรง ครั้งที่ 3 ในปี 2567 ในรอบ 1 ปี คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดลำพูน ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมนั้นเห็นด้วย การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึง ต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ต้นทุนผันแปรต่างๆค่าใช้จ่ายแฝง ของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ทำให้การขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ และเกินกว่าความเป็นจริงในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ทั้งยังเป็นการบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่า กระทบไปถึง ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการเกษตร และ SMEs ที่ต้องแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่สินค้ายังขายราคาเท่าเดิม รวมถึง ธุรกิจภาคบริการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ค่าความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ประปา แก๊ส หรือพลังงานหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการต้องรับภาระความเสี่ยงทั้งหมด

สอดคล้องกับแนวคิดของ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตีกลับการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี เป็นปรากฏการณ์ในรอบ 40 ปี จากผู้มีอำนาจในรัฐบาล ถือว่าเป็นการแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรงที่มีการพิจารณา จะต้องมีวิธีที่รอมชอมกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น จะเกิดบรรทัดฐานแบบนี้อีก การนำนโยบายค่าแรงมาหาเสียง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ กกร.จังหวัดลำพูน ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ คือ
1. ให้ยึดหลักกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 บัญญัติไว้ใน มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้คณะกรรมการค่าจ้าง ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านระบบกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง(ไตรภาคี) เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

2. กกร.จังหวัดลำพูน ขอคัดค้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง(ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3. การปรับอัตราค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5. นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ฯลฯ เป็นต้น จะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

6. จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยมีนักลงทุนต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทำโรงงานอุตสาหกรรม และมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมแห่งประเทศไทย, สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์, นิคมอุตสาหกรรมเวิล์ด 1, นิคมอุตสาหกรรมเวิล์ด 2 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ภายนอกนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกหลากหลาย ทำให้ GDP และ GPP ของจังหวัดลำพูน เป็นอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ มีหลายบริษัทที่มีความต้องการลงทุนในจังหวัดลำพูน การขึ้นค่าแรงดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงการลงทุน จะทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วหลายบริษัท ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ในขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่ให้ความสำคัญนโยบายของรัฐบาล มีการจ้างงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เดือนละ 8,000-9,000 บาท/เดือน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบภาคเอกชน และไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเลย ภาคเอกชน เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ จำเป็นต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม(Rule of Law) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าวต่อไป

 

อนึ่ง อย่างไรก็ดี กกร. จังหวัดลำพูน จะทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากนี้ จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านหอการค้าจังหวัดลำพูน จะทำหนังสือถึงหอการค้าไทยเพื่อสนับสนุนในการคัดค้านการขึ้นค่าแรงฯดังกล่าวด้วย..

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป