13/09/2024

ลำพูน – กรมทางหลวงเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น จากการพัฒนาโครงการออกแบบทางแยกต่างระดับ

กรมทางหลวงเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศ โครงการ(สัมมนา ครั้งที่ 1)โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ) โดยมีนายบุญส่ง ด้วงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงลำพูน, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหาร/ผู้แทนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, หน่วยงานภาคเอกชน, ภาคประชาชน, สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน หมู่ที่ 15 บ้านน้ำบ่อเหลือง ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567

ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงลำพูน กล่าวว่า จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ)เป็นจุดตัดทางแยกที่สำคัญในการเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 11 เข้าเมืองลำพูน ปัจจุบันเป็นจุดตัดทางแยกที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การปรับปรุงเป็นทางแยกต่างระดับจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 11 โดยการออกแบบปรับปรุงทางแยก ต้องมีการสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมอย่างละเอียด จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำข้อคิดเห็น มาประกอบในการพิจารณาออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ ทางด้านวิศวกรรมสอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

กรมทางหลวง จึงมีแผนดำเนินการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ) เพื่อให้สามารถเดินทางสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางโครงการผ่านโบราณสถานในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment : EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด

ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ให้ดำเนินงานโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษา สำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ) ระยะเวลาดำเนินการ 450 วัน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ(สัมมนาครั้งที่ 1) เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารของโครงการ ประกอบด้วยความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษาพื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษาและแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของโครงการและการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่มากที่สุด

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา เป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือ โดยมีทางหลวงหมายเลข 11 เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางจากจังหวัดในภาคกลางสู่จังหวัดลำปาง ลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ) เป็นจุดตัดทางแยกที่สำคัญในการเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 11 เข้าตัวเมืองลำพูนเป็นจุดตัดทางแยกที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ซึ่งมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่น และมักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง กรมทางหลวงได้มีแนวทางในการดำเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ

จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 114(แยกดอยติ) เพื่อปรับปรุงถนนและจุดตัดทางแยกดังกล่าว ให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนน และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนและหน่วยงานราชการ ความสำเร็จของโครงการจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าโครงการฯจะก่อเกิดผลดีในภาพรวม แต่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชนบางกลุ่ม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความร่วมมือต่อโครงการนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน..

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป