จ.อุตรดิตถ์ จัดพิธีสรงน้ำและพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล

จ.อุตรดิตถ์ จัดพิธีสรงน้ำและพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล

   

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์  เป็นประธานในพิธีสรงน้ำและพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และอัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประดับที่ผ้าห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้ง พร้อมด้วยศาล ทหาร ตำรวจ นางสายสมร ทองกองทุน รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ข้าราชการ และพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีจำนวนมาก ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

   
.
โดยภายในงานประกอบด้วยขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “สธ” พร้อมขบวนศิลปะวัฒนธรรมทั้ง 9 อำเภอ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมริ้วขบวนผ้าห่มพระบรมธาตุ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นำกล่าวคำบูชาพระบรมธาตุฯ ประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุและอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “สธ” ผ้าห่มพระบรมธาตุ ตามลำดับ ยังความปลาบปลื้มใจของประชาชนชาวอำเภอลับแลและจังหวัดอุตรดิตถ์  ทั้งนี้ เป็นประจำทุกปีที่จังหวัดอุตรดิตถ์จะได้มีการจัดกิจกรรมและจัดงานประเพณีอัฐมีบูชา ที่มีความสำคัญยิ่งที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมทำบุญตามประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อรำลึกถึงองค์พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรินิพพานนานแล้ว และได้มีโอกาสกราบไหว้พระบรมธาตุเจดีย์ ปูชนียสถาน มีการจัดงานน้อมรำลึกอย่างตระการตา โดยจัดให้มีพิธีเวียนเทียน ในการสืบสานงานประเพณีอัฐมีบูชา หรือประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าจำลอง (ในวันแรม 8 ค่ำเดือน 6 ) ต่อเนื่องจากวันวิสาขบูชา

   
.
พระบรมธาตุทุ่งยั้ง สันนิฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1902 เป็นมหาเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยกรุงสุโขทัย สูงประมาณ 1 เส้น ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ทำด้วยศิลาแลง ก่อซ้อนกัน 3 ชั้น กว้าง 10 วา 3 ศอก มีเจดีย์บริวารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศ ที่ฐานชั้นที่ 3 มี ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน แต่เจ้าอาวาสเกรางว่าจะถูกโจรกรรม จึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในวิหาร และกุฏิพระสงสงฆ์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักพังลงมา ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมเพิ่มเติม ดังรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันซึ่งได้มีการหุ้มทองส่วนที่เป็นพระธาตุขึ้น พระบรมธาตุทุ่งยั้ง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุนำไปบรรจุเมื่อปี 2444 มีทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ องค์พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ,พระบรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร และพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

นส.กาญจนา จำลองกาศ /รายงาน

Related posts