ขอนแก่น – มข. จัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน” ครั้งแรกในภาคอีสาน

ขอนแก่น – มข. จัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน” ครั้งแรกในภาคอีสาน

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และเครือข่าย จัดโครงการอบรมหลักสูตร ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2568 โดยได้รับเกียรติจากนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 150 คน ณ โรงแรมบายาสิตา จังหวัดขอนแก่น


นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวรายงาน เรียนท่านรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน ในวันนี้อากาศยาน (โดรนเกษตร) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำการเกษตรในปัจจุบัน เช่น การพ่นสารป้องกัน กำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน การหว่านปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และการถ่ายภาพ กรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนงานวิจัยการใช้ โดรนเกษตร โดยเฉพาะด้านอารักขาพืชเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้เทคโนโลยีในการดูแลพืชปลูก การที่จะใช้อากาศยานให้ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผู้ใช้มีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านต่างๆ

อาทิเช่น รู้จักศัตรูพืช (โรคพืช แมลงและไรศัตรูพืช และวัชพืช) รู้วิธีการเลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยฮอร์โมนพืช เทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยอากาศยาน และ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นต้น กรมวิชาการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการใช้อากาศยานทางการเกษตร ในการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตของภาคการเกษตรของประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จัดการฝึกอบรม หลักสูตร ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน เพื่อให้ผู้รับจ้างพ่น และเกษตรกรผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน มีความปลอดภัย และเทคนิคการพ่นสาร ที่เกี่ยวกับการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งหลังจากผ่านการฝึกอบรม สามารถนำใบประกาศที่ได้รับขอใบอนุญาตมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตราย เพื่อใช้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรป้องกันกำจัด ศัตรูพืชทางอากาศ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปในการฝึกอบรมครั้งนี้

มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่ ผู้รับจ้างพ่น เกษตรกร และนักวิจัยภาครัฐ/เอกชน การฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน และกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร มาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) ในการนำชุดอุปกรณ์นิรภัยสำหรับการปฏิบัติงานมามอบให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานและสร้างความตระหนักรู้ในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งสนับสนุนการทำบัตรประจำตัวผู้รับจ้างบินโดรนพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร แก่ผู้ผ่านการอบรม ที่ลงทะเบียนในระบบ NSW DOA ของกรมวิชาการเกษตรภายในเดือนกรกฎาคม 2568 และโครงการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจและบริการโดรนทางการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่นำผู้ร่วมโครงการมาเข้ารับการฝึกอบรม

 
นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มีความยินดี ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการ ฝึกอบรม หลักสูตรผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยานในวันนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ผลักดันและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กรมฯในฐานะผู้รับผิดชอบการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีนโยบายที่จะพัฒนา ผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้มีองค์ความรู้ทางวิชาการและวิธีปฏิบัติในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ปลอดภัย ตลอดจนให้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ในส่วนที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ผู้มีไว้ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองเพื่อใช้รับจ้างป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในโกดัง,ยุ้งฉาง และป้องกันกำจัดศัตรูพืชทางอากาศ ต้องจัดให้ผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ผ่านการอบรมความรู้ด้านวัตถุอันตรายตามหลักสูตรที่ กรมวิชาการเกษตรกำหนด และให้ผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้รับการอบรมความรู้ด้านวัตถุอันตรายทุกๆ 5 ปี เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามประกาศดังกล่าวข้างต้น กรมวิชาการเกษตรได้เร่งดำเนินการ จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน” ให้กับผู้รับจ้างพ่น

 

โดยตั้งเป้าจะดำเนินการให้ครบ 5,000 ราย ในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะมีการบังคับใช้ทางกฎหมายในการควบคุมผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องผ่านการอบรม หลักสูตร ผู้ควบคุมการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน เพื่อนำไปขอใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย เพื่อใช้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรป้องกันกำจัดศัตศัตรูพืชทางอากาศ จากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หากไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับเป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี ขอขอบคุณสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ที่จัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ ขอบคุณกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และโครงการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจและบริการโดรนทางการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ร่วมสนับสนุนการจัดฝึกอบรม ขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบและนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการพ่นวัตถุอันตรายด้วยอากาศยานให้ถูกต้องและปลอดภัย ท้ายนี้ขอให้การฝึกอบรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้.

Related posts