20/09/2024

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจที่พักปลอมระบาดต่อเนื่อง มิจฉาชีพยังคงใช้ 2 แผนประทุษกรรมแนะนำให้ตรวจสอบก่อนโอนเงิน หรือจองผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจที่พักปลอมระบาดต่อเนื่อง มิจฉาชีพยังคงใช้ 2 แผนประทุษกรรมแนะนำให้ตรวจสอบก่อนโอนเงิน หรือจองผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างเพจ facebook ปลอม โดยลอกเลียนแบบเพจที่พักจริง แอบอ้างเป็นเจ้าของที่พัก หรือแอดมินเพจหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำก่อนเข้าพัก ดังนี้

ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ยังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด หรือวันปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมหลัก 2 วิธี คือ แผนประทุษกรรมแรก คือ การสร้างเพจ facebook ที่พักปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้หลอกลวงผู้เสียหาย รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากและง่ายขึ้น ส่วนแผนประทุษกรรมที่สอง คือ การใช้บัญชี facebook อวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้ หรือกรณีที่แย่ที่สุดเมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงที่พักจริงแล้ว กลับได้รับแจ้งว่าไม่ได้มีการจองที่พักมาแต่อย่างใด

ทั้งนี้นับตังแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 5 มิ.ย.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 จำนวนกว่า 102,288 เรื่อง หรือคิดเป็น 37.45% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,479 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ขอให้ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ facebook ที่พักเหมือนที่พักจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยวต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดาเพื่อมัดจำค่าที่พัก บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อของที่พัก หรือบัญชีบริษัท
2.ควรสำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com Agoda Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
3.หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่
4.เพจ facebook จริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
5.โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่
6.เพจ facebook จริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
7.เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
8.ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
9.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป